อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช
ตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงราย บริเวณทางแยกที่จะไปอำเภอแม่จัน พ่อขุนเม็งรายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลวจักราช เป็นโอรสของพระเจ้าลาวเม็ง และพระนางเทพคำขยาย หรือนางอั้วมิ่งจอมเมือง ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย 3 ปีกุน พุทธศักราช 1781 หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 3 ปี พระองค์ทรงสร้างเมืองเชียงรายเป็นเมืองหลวงแทนหิรัญนครเงินยาง และเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช 1860
วัดพระแก้ว
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์ แต่เดิมชื่อว่าวัดป่าเยี้ยะ เยี้ยะ แปลว่า ไม้ไผ่บริเวณที่ตั้งวัดเป็นป่าไผ่จึงตั้งชื่อตามที่มา ตามประวัติกล่าวว่าพระเจ้ามหาพรหมผู้ครองเมืองเชียงราย เป็นผู้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเมืองกำแพงเพชร ในช่วงเวลานั้นสถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยจะสู้ดีนักจึงได้พอกปูนทับองค์พระแก้วมรกตแล้วนำไปบรรจุไว้ในเจดีย์วัดป่าเยี้ยะ อีก 45 ปีต่อมาเกิดฟ้าผ่าที่องค์เจดีย์พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองจึงได้อัญเชิญไปไว้วิหารหลวงได้ 2 เดือนต่อมาปูนบริเวณพระนาสิก (จมูก) กระเทาะออกจึงเห็นเป็นแก้วสีเขียว เจ้าอาวาสได้กระเทาะปูนออกจึงปรากฎเป็นพระแก้วสีเขียวทั้งองค์พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ ทราบข่าวจึงได้อัญเชิญไปเมืองเชียงใหม่ รวมระยะเวลาที่พระแก้วมรกตประดิษฐาน
วัดพระสิงห์
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ามหาพรหม ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้ากือนา ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ราวปีพุทธศักราช 1928 (พระเจ้ามหาพรหมเสวยราชย์ ณ เมืองเชียงราย ระหว่าง พ.ศ. 1888-1943) มูลเหตุ ที่ได้ชื่อว่า “วัดพระสิงห์” นั้นเชื่อว่า น่าจะมาจากการที่ครั้งหนึ่ง วัดนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทยในปัจจุบัน คือ “พระพุทธสิหิงค์” หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่า “พระสิงห์”
วัดดอยงำเมือง
เป็นวัดที่เก่าแก่ที่มีความสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งของกู่พญามังราย ตั้งอยู่ถนนงำเมือง (อยู่ด้านหลังวัดพระแก้ว) สร้างเมื่อ พ.ศ. 1860 วัดดอยงำเมืองเดิมมีแต่ สถูป (กู่) บรรจุพระอัฐิของพญามังรายมหาราช สร้างโดยพญาไชยสงครามโอรสพญามังรายมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ 19 หลังจากที่พญามังรายได้สวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1860 พญาไชยสงครามพระราชโอรสได้ถวายพระเพลิงพระศพพญามังรายมหาราชแล้วพระองค์ทรงไม่โปรดเมืองเชียงใหม่ ได้กลับมาครองเมืองเชียงรายและอัญเชิญพระอัฐิของ พญา มังรายมาประดิษฐาน ณ ดอยแห่งนี้ ต่อมา พ.ศ. 2030 พระยาศรรัชฎาเงินทอง ได้มาบูรณะและสร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า “วัดดอยงำเมือง”
สิงห์ ปาร์ค
สิงห์ ปาร์ค (Singha Park) หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า ไร่บุญรอด ตั้งอยู่ริมถนนสายเด่นห้า-ดงมะดะ อำเภอเมือง ห่างจากเขตชุมชนเมืองเชียงราย ประมาณ 9 กิโลเมตร ในพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลดอยฮาง ตำบลรอบเวียง ตำบลป่าอ้อดอนชัย และตำบลแม่กรณ์ ความสูงของพื้นที่เฉลี่ย 450 เมตร เหนือจากระดับน้ำทะเล ในฤดูหนาวอากาศค่อนข้างเย็นสบาย
พระธาตุดอยตุง
พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 บนทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง
พระตำหนักดอยตุงและสวนแม่ฟ้าหลวง
พระตำหนักดอยตุง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 60 กิโลเมตร พระตำหนักดอยตุงเคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีรูปทรงผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับชาเลย์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีการแกะสลักไม้ตามกาแล เชิงชายและขอบหน้าต่างเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยฝีมือช่างชาวเหนือ รอบ ๆ พระตำหนักมีสวนดอกไม้หลากพันธุ์ หลายสี ให้ความสวยงามสดชื่น โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเห็นหมอกจาง ๆ บริเวณยอดเขารอบพระตำหนัก
วัดร่องขุ่น
วัดร่องขุ่น อยู่ในท้องที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง ออกแบบและก่อสร้างโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2540 โดยบนพื้นที่เดิมของวัด 3 ไร่ และขยายออกเป็น 12 ไร่ พระอุโบสถสีขาวตกแต่งด้วยลวดลายกระจกสีเงินแวววาว เป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันไป หน้าบันประดับด้วยพญานาค ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถและห้องแสดงภาพวาดน่าสนใจมาก เปิดให้เข้าชมทุกวัน
ดอยแม่สลอง
ดอยแม่สลอง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสันติคิรี เดิมชื่อ บ้านแม่สลองนอก เป็นชุมชนผู้อพยพจากกองพล 93 จากสหภาพพม่าเข้ามาในเขตไทย จำนวนสองกองพัน คือ กองพันที่ 3 เข้ามาอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองพันที่ 5 อยู่ที่บ้านแม่สลองนอก ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นซากุระพันธุ์ที่เล็กที่สุด สีชมพูอมขาวจะบานสะพรั่งตลอดแนวทางขึ้นดอยแม่สลอง เป็นพันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย เพราะเจริญเติบโตอยู่แต่เฉพาะในภูมิอากาศหนาวจัดเท่านั้น
วนอุทยานภูชี้ฟ้า
วนอุทยานภูชี้ฟ้า เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นสุดฮอตของจังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากดอยผาตั้ง 25 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นยอดเขาที่แหลมชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า อยู่สูงจากระดับทะเลประมาณ 1,628 เมตร โดยมีหน้าผาเป็นแนวยาวยื่นไปทางฝั่งประเทศลาว บนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้ากว้าง ในฤดูหนาวจะมีทิวทัศน์สวยงามเป็นพิเศษ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะมาค้างแรมบริเวณบ้านร่มฟ้าทองทาง ซึ่งห่างจากจุดชมวิวประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วจะเดินขึ้นภูชี้ฟ้าเพื่อไปชมวิวตอนเช้ามืด ระหว่างทางจะพบแปลงปลูกป่านางพญาเสือออกดอกบานสะพรั่งสวยงาม (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต้นเสี้ยวดอกขาวรอบภูชี้ฟ้าจะออกดอกบานเต็มเชิงเขา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น